คนกล้าคืนถิ่น

ทองนาค เพ็งชนะ

  • คนกล้าสระบุรี
  • เว็บไซต์ : -
  • Facebook : น้าทอง สวนธรรมจัย

คุณทองนาค เพ็งชนะ กับความสุขที่ได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง

จากปัญหาวิกฤติของภาคเกษตร จนทำให้เกษตรกรรายย่อยอ่อนล้า  พึ่งตนเองไม่ได้ ไม่คุ้มค่าคุ้มทุน ต้องสูญเสียที่ดินละทิ้งถิ่น  ปล่อยให้คนชราและเด็กอยู่กันตามลำพัง จนทำให้การพัฒนาในชนบทขาดพลัง ภาคส่วนต่าง ๆ จึงร่วมมือกันขับเคลื่อนให้เกิด “โครงการคนกล้าคืนถิ่น” ขึ้น วันนี้ขอแนะนำให้รู้จัก หนึ่งในสมาชิกคนกล้าคืนถิ่น คุณทองนาค เพ็งชนะ

ก่อนตัดสินใจเข้าร่วมเป็น “คนกล้าคืนถิ่น”

คุณทองนาค เริ่มเล่าให้ฟังว่า “ก่อนที่จะมาร่วมโครงการฯ นี้นั้น เคยเป็นผู้จัดการฝ่ายจัดซื้ออาวุโส บริษัทอัมรินทร์บุ๊คเซ็นเตอร์ ในเครืออัมรินทร์ปริ้นติ้งมาก่อน”

แนวคิดที่มาร่วมโครงการนั้น คุณทองนาค กล่าวว่า “หลังจากที่ผมทำงานที่บริษัทฯ มานาน ก็รู้สึกว่าเราถึงจุดอิ่มตัว ก็เลยอยากคิดหาอย่างอื่นทำบ้าง จึงได้เดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัด ขณะเดียวกันพี่สาวได้ขอเงินไปขุดบ่อในที่นา เราก็ไปช่วยเฝ้าด้วย ได้ปูเสื่อนอนใต้ต้นไม้ริมคันนา รู้สึกสงบเงียบ สบาย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราชอบมาตั้งแต่เด็ก”

“ต่อมาเราได้เห็นโครงการฯ นี้เผยแพร่ในเฟซบุ๊ก ก็เลยสมัครเข้าร่วมในโครงการฯ แล้วได้เข้าไปอบรมโครงการฯ ตั้งอยู่ที่ค่ายเปรม ติณสูลานนท์ จ.ขอนแก่น”

ความรู้ด้านเกษตรของ “ครอบครัวคนกล้า”

ก่อนสมัครเข้าโครงการฯ คุณทองนาคมีความรู้ด้านเกษตรอยู่บ้างแล้ว และยังได้เข้าไปอบรมด้านเกษตรเพิ่มเติมกับโครงการศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติหรืออีกชื่อหนึ่งคือศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี มีการฟังบรรยายแล้วลงมือปฏิบัติ เช่น การผลิตปุ๋ย การห่มดินแห้งชามน้ำชาม หมายความว่า เมื่อเราปลูกพืชก็จะถางต้นหญ้าให้พื้นดินโล่ง จะทำให้เวลาแดดร้อน มันก็เผาดิน ทำให้น้ำที่อยู่ใต้ดินระเหยขึ้นหายไปหมด ดินแห้ง ต้นไม้ถ้าปลูกก็จะแห้ง ฉะนั้นวิธีถมดินแบบแห้งชามน้ำชามก็คือ เอาฟางแห้ง (นี่คือแห้งชาม) มาคลุมให้ดินมีความชื้น แล้วเอาปุ๋ยหมักใส่เข้าไปรอบ ๆ จากนั้นก็เอาน้ำหมักราดลงไป (นี่คือน้ำชาม)”

นี่คือการอบรมก่อนที่จะเข้าโครงการฯ ซึ่งมีผู้เข้าอบรมราว 30 กว่าคน เมื่ออบรมเสร็จก็นำความรู้ด้านเกษตรนี้กลับไปทำที่บ้านเกิดของตน ซึ่งคุณทองนาค เล่าให้ฟังว่า “ส่วนของผมก็กลับไปที่บ้านแฟน จ.ร้อยเอ็ด มีพื้นที่นาอยู่แล้ว โดยทางโครงการฯ ได้กำหนดให้ทำในพื้นที่นาในขอบเขตไม่เกิน 3 ไร่ ผมจึงได้ไปขุดบ่อน้ำรอบ ๆ ท้องนา เพื่อให้มีน้ำไว้ใช้หล่อเลี้ยงท้องนานั้น”


พบแรงต้าน ปัญหาที่ต้องฝ่า

สำหรับปัญหาและอุปสรรคนั้นย่อมมีบ้าง คุณทองนาค เล่าต่อว่า “หลังจากเข้าอบรมโครงการฯ นี้แล้วนำกลับทำที่บ้าน ชาวบ้านก็ต่อต้าน ไม่เห็นด้วย เพราะจากเดิมที่เขาทำนาตามปกติอยู่แล้ว พอเราเข้าไปบอกว่าจะไม่ทำแบบเดิม จะทำแบบใหม่ ก็คือเอาดินไปถม ขุดคลอง แต่ชาวบ้านแย้งว่าการทำแบบนี้จะทำให้สูญเสียพื้นที่ เพราะเขานึกไม่ออกว่าวิธีที่เราทำนี้จะได้ผลหรือไม่ แต่ผมมีความคิดส่วนตัวว่า ถ้าเราเชื่อว่าในอนาคตพ่อแม่จะต้องพึ่งพาเรา ก็ให้เราอดทนทำต่อไปแม้จะโดนแรงต้านก็ตาม แม้วันนี้ท่านไม่เห็น แต่อีก 2-3 ปีข้างหน้าท่านก็จะเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราลงมือทำอย่างแน่นอน”

หลังจากอบรมเสร็จ ทางโครงการฯ ให้ทุกคนจับกลุ่มละ 5-8 คน ที่มีบ้านอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน สามารถเดินทางไปช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้สะดวก เช่น บ้านเพื่อนทำนา เราก็จะไปช่วยกัน เรียกว่าไปลงแขก หรือถ้าวันนี้เราจะทำกระต๊อบ เพื่อน ๆ ในกลุ่มก็จะมาช่วยกันมุงหลังคาให้ เป็นต้น

โครงการดี ๆ อยากบอกต่อ ขอแนะนำ

“การเข้าโครงการฯ นี้ทำให้เราได้เพื่อน” คุณทองนาค เผยต่อ “ทำให้เรารู้วิธีทำเกษตรที่ถูกต้อง ซึ่งวิธีการสอนของวิทยากรในโครงการฯ นี้ ช่วยให้คนกล้ารู้ได้ด้วยตัวเองว่า สิ่งที่ทำอยู่นี้ก็คือวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของในหลวงนั่นเอง และคำว่า ‘ลงแขก’ นี้ทำให้ทุกคนได้แบ่งปันกัน ได้ความรู้ ซึ่งทางโครงการฯ ได้อบรมรอบแรก เป็นเวลา 4 คืน 5 วัน จากนั้นก็ให้เราไปลงพื้นที่จริงที่บ้านเกิดของเราเอง จากนั้นก็มีพี่เลี้ยงจากโครงการฯ ติดตามความคืบหน้า ถ้าเราอยากรู้เรื่องอะไรเพิ่ม เช่น การเผาถ่านที่ถูกต้อง หรือพลังงานโซลาเซลล์ เขาก็หาวิทยากรเก่ง ๆ ด้านนี้มาอบรมให้เรา

คุณทองนาค อยากแนะนำคนที่สนใจเช่นเขาว่า “ถ้าคุณทำงานประจำที่กรุงเทพฯ หรือที่ไหนสักแห่งหนึ่งที่ไม่ใช่บ้านเกิด แล้วอยากจะกลับไปหาอะไรทำที่บ้านเกิด ขอแนะนำให้เข้ามาสมัครเป็นสมาชิกคนกล้าในโครงการฯ นี้ เพราะโครงการฯ ไม่ได้สอนเพียงแค่หลักการด้านการทำเกษตรกรรมที่ถูกต้องเท่านั้น แต่คุณจะได้เพื่อนที่ดีด้วย ถ้าเราทำเกษตรแล้วท้อแท้ เพื่อนจะให้กำลังใจ จะคอยมาช่วยเหลือกันและกัน”

พบความสุข…ที่สัมผัสได้ด้วยตัวเอง

จากคำบอกเล่าของคุณทองนาค หลังจากที่ได้สัมผัสกับโครงการฯ นี้ด้วยตัวเองแล้ว ก็พบว่า “ชีวิตความเป็นอยู่มีความสุขเพิ่มขึ้น แม้จะยังไม่สามารถตอบโจทย์เรื่องรายได้ก็ตาม แต่เรามีความสุขในวิถีชีวิตแบบนี้”

จากท้องนา สู่ร้านนำร่องที่เมืองกรุง

หลังจากที่คุณทองนาคได้ลงพื้นที่ที่ท้องนาจริง ๆ แล้ว จากนั้นราวอีก 1 ปีต่อมา ก็ได้มาช่วยดูแลร้านโครงการคนกล้าคืนถิ่นที่ตลาด อตก. สวนจตุจักร ซึ่งถือว่าเป็นร้านนำร่องของโครงการฯ ในปีที่ 2 ของการอบรมโครงการฯ โดยทางตลาด อตก. ได้อนุเคราะห์พื้นที่ให้ทางโครงการฯ ได้ตั้งร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของโครงการฯ

“ร้านของโครงการฯ นี้เปิดขายทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9.00-17.00 น. ซึ่งร้านนี้จะมีคนกล้าอาสาจะหมุนเวียนกันมาช่วยดูแลประจำร้าน หลังจากนั้นผมก็อาจจะกลับไปดูแลพื้นที่ท้องนาที่เราทำไว้ จ.ร้อยเอ็ด นั้นอีกครั้ง” คุณทองนาค กล่าวอย่างมีความสุขที่จะได้กลับไปเยือนถิ่นฐานบ้านเกิด และสัมผัสกับธรรมชาติที่แสนจะคุ้นเคยนั้นอีกครั้ง

สำหรับในเรื่องอนาคตของโครงการฯ นั้น คุณทองนาค หวังไว้ว่า “อยากให้โครงการฯ นี้ทำแบบนี้ต่อไป ให้อยู่ในวิถีชีวิตของคนกล้า กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ของเรา กล้าที่จะทำให้ดีขึ้นกว่ารุ่นพ่อรุ่นแม่ที่เคยทำ ในระยะเวลา 2 ปีนี้ที่มีโครงการฯ ก็มีคนสนใจเข้าร่วมโครงการมาแล้วราวเกือบ 2 พันคนจากทั่วประเทศ ส่วนใหญ่คนจากภาคกลางมาเยอะที่สุด จะเห็นได้ว่าคุณจะได้เพื่อนมากมายจากโครงการฯ ดี ๆ แบบนี้” คุณทองนาค กล่าวปิดท้ายอย่างมีความสุข