คนกล้าคืนถิ่น

คำอ้าย เตชะเนตร

  • คนกล้าเชียงราย
  • เว็บไซต์ :
  • Facebook :

ความสุขใด ๆ คงไม่เท่า ความสุขที่ลูกหลานเราสืบทอดเจตนารมณ์

การดำรงชีวิตเป็นวิถีเกษตรกร อาจไม่ร่ำรวย บางรายต้องเป็นหนี้เป็นสิน ชีวิตมีแต่ความเหนื่อยยาก นับเป็นสโลแกนชีวิตของวิถีเกษตรกรในบ้านเมืองเราที่ผู้คนทั้งหลายต่างจดจำ แต่ผู้คนทั้งหลายก็ลืมมองในบางมุม โลกที่กว้างใหญ่ใบนี้ยังมีอะไรอีกมากมายให้เราได้เรียนรู้ “เป็นคนต่างจังหวัดนี่ดีนะ ไม่ต้องวุ่นวาย อากาศดี กินแต่ผักแต่ไม้ อายุเลยยืน” เป็นคำพูดที่ติดหูของผู้คนในเมืองใหญ่ และกลายเป็นพูดกันไปทั่วบ้านทั่วเมือง ผู้คนทั้งหลายต่างใฝ่ฝัน เก็บเงิน อพยพมาซื้อที่ทางอยู่ต่างจังหวัด หวังจะใช้ชีวิตในบั้นปลายด้วยอากาศที่บริสุทธิ์ แต่ทำไมไม่ได้ดั่งใจหวัง ทั้งที่อากาศก็ดี ทำไมเรายังเจ็บป่วย ตอบง่าย ๆ เลยครับ “อาหาร” และ “สุขภาพจิตที่ไม่ต้องถูกบีบบังคับจากใคร”

นาย คำอ้าย เตชะเนตร เกษตรกรแห่งบ้านท่ามะโอ ตำบลจอมหมอกแก้ว อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย หรือ ป้ออ้าย ที่ทุกคนรู้จัก ทั้งชีวิตของพ่ออ้าย อยู่กับดิน กับน้ำ กับแดด และต้นไม้มาทั้งชีวิต ดีกรีของพ่ออ้ายเป็นถึงหมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน ทำสวนเกษตรเชิงเดี่ยว ปลูกพืชตามที่พ่อค้าหรือผู้ที่จะมารับซื้อสั่งมา เรียกว่าปลูกตามออเดอร์ เช่น ถั่วฝักยาว มะเขือเทศ ถั่วแระ

ด้วยใจรักในอาชีพนี้และต้องการเผื่อแผ่สิ่งที่มีให้กับทุก ๆ คน นั่นคือ การทำน้ำหมัก ปุ๋ยหมัก เพื่อให้ชาวบ้านได้เรียนรู้ในการลดต้นทุนการทำเกษตรกรรม พ่ออ้ายเป็นเกษตรกรมาทั้งชีวิต แม้วันนี้จะอายุมากแล้ว แต่ก็ยังแข็งแรงไม่แพ้คนหนุ่ม ๆ สาว ๆ คงเป็นเพราะอาหารการกิน การทำงานที่เหมือนออกกำลังกาย และความเครียดที่มีน้อย เพราะถ้าเราเครียดกับปัญหาธรรมชาติแล้ว มันก็สามารถแก้ไขได้จากการเรียนรู้ธรรมชาตินั่นเอง ผิดกับคนเมืองใหญ่ที่วุ่นวาย ตามแก้ปัญหาที่เกิดจากกิเลสของมนุษย์ หลงทางกันไปเรื่อย ๆ จนเอากิเลสมาแก้กิเลส ทำให้ต้องจมอยู่กับความทุกข์ไม่มีวันจบสิ้น
พ่ออ้ายรู้จักโครงการคนกล้าคืนถิ่นจากลูกสาว (พี่ต้อย คนกล้ารุ่น 2) ที่มาบอกเล่าให้ฟังว่า พ่อน่าจะไปเข้าร่วมอบรมบ่มเพาะ เพื่อนำความรู้ที่มากขึ้นมาปรับใช้กับสวนของตนเอง และจะได้แบ่งปันให้กับผู้อื่นได้ด้วย พ่ออ้ายจึงตัดสินใจไปตามคำแนะนำของลูกสาว ไปแบบมึน ๆ งง ๆ ก็ว่าได้

หลังจากกลับมาพ่ออ้ายก็ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะทำอะไร เริ่มต้นด้วยการปรึกษาหารือกันในครอบครัว ว่าจะเริ่มยังไง จนได้ข้อสรุปว่าจะเริ่มจากเล็ก ๆ กันไปก่อน โดยเริ่มต้นจากการวางแผนแบ่งพื้นที่เพาะปลูกพืชรายวัน รายสัปดาห์ รายปี ในพื้นที่ 1 ไร่ ซึ่งในตอนเริ่มต้นมีรายได้จากขายผักวันละ 300-1000 บาท หลังจากนั้นก็เริ่มเก็บพืชรายสัปดาห์ขายได้มาเรื่อย ๆ หลังจากนั้นจึงค่อย ๆ เริ่มปรับเปลี่ยนพื้นที่ในแปลงที่เหลืออยู่ ขุดสระน้ำ ขุดร่องเก็บน้ำ และปล่อยปลาไว้กิน ทำโรงเรือนไว้เพื่อพักหลบแดดหลบฝน เก็บอุปกรณ์ เริ่มปลูกพืชยืนต้น มะละกอ พุทรา สตอเบอรี่ ฝรั่ง สัปปะรด ไม้ผลต่าง ๆ และได้ผลผลิตเป็นที่น่าพึงพอใจ ก็สร้างความมั่นคงให้ครอบครัวได้ในระดับหนึ่ง

เมื่อเราเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ ๆ นั่นย่อมสร้างความสนใจให้แก่ผู้คนรอบข้างด้วยเช่นกัน พ่ออ้ายก็พบเจอปัญหาอุปสรรคไม่ต่างจากบุคคลอื่น ๆ แต่ปัญหาของพ่ออ้ายนั้นเกิดมาจากความกลัว ความลังเล และไม่มั่นใจในความรู้ในวิถีแบบใหม่ ๆ ของคนกล้าคืนถิ่น ว่าจะไปได้ตลอดรอดฝั่ง ตามประสาคนที่ผ่านชีวิตมาหลายทศวรรษ
ญาติพี่น้อง คนในชุมชน ต่างก็พูดด้วยความเป็นห่วงพ่ออ้าย ทำให้พ่ออ้ายเกิดความลังเลใจ แต่ก็ได้กำลังใจจากคนในครอบครัว และสมาชิกกลุ่มลูกหลานคนกล้าเชียงรายทุกคนในรุ่นบุกเบิก พ่ออ้ายจึงตัดสินใจทำ คิดว่าเป็นไงก็เป็นกัน ถ้ามันดี ก็ดีไปเลย แต่ถ้าไม่สำเร็จก็กลับมาทำแบบเดิม ๆ ก็ได้ ลองดูซักตั้ง
มานะของมนุษย์นั้นทำได้ทุกอย่าง แม้กระทั่งการเปลี่ยนแปลงโลก มีวันฟ้าหม่นฝนตก ก็ย่อมมีวันฟ้าสดใส เจตนารมณ์ที่แน่วแน่ของพ่ออ้าย ส่งผลให้บังเกิดผู้สืบทอด อย่างพี่ต้อย ลูกสาวของพ่ออ้าย หลังจากกลับมาเริ่มทำงานในวิถีแนวคนกล้าแล้ว พ่ออ้ายก็ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมอื่น ๆ ของโครงการ อีกเลย เพราะเนื่องจากปัญหาสุขภาพด้วยอายุที่มากขึ้น และร่างกายไม่พร้อมสำหรับการเดินทาง จึงมอบหมายให้ลูกสาวคือ พี่ต้อย ไปอบรมแทน ส่วนตัวพ่ออ้ายและภรรยา ช่วยกันลงแปลง ปีแรกลองผิดลองถูก ยังไม่มีตลาดรองรับจนกระทั่งลูกสาวมาช่วยรวมกลุ่มเพื่อนบ้านใกล้เคียง สามารถขยายผลการรวมกลุ่มเข้าร่วมอบรมคนกล้าคืนถิ่นรุ่นที่ 2 ลูกสาวเข้าอบรมคนกล้าสานต่องานเกษตร โดยได้เข้าร่วมเครือข่ายต่าง ๆ เช่น โครงการอาหารปลอดภัยเชียงรายเป็นสุข(สสส) เครือข่ายท่องเที่ยวโดยชุมชน โครงการแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง ท่านผู้บัญชาการกองกำลังทหารบกจังหวัดเชียงราย ได้ลงมาเยี่ยมให้กำลังที่สวน จึงทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าครอบครัวเรามาถูกทางแล้ว การตลาด การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผลผลิตในสวน เริ่มมีคนรู้จักสวนมากขึ้นจากสื่อออนไลน์ การออกบูธเพื่อขายสินค้าและประชาสัมพันธ์กับพี่น้องเครือข่าย ทำให้มีลูกค้าประจำ ทั้งในชุมชน และนอกชุมชน ขยายไปจนถึงกับมีร้านอาหารมาสั่งซื้อผัก และผลไม้จากสวน ประกอบกับได้ยื่นขอใบรับรองสินค้าเกษตรปลอดภัยGAP ทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นในคุณภาพความปลอดภัยสินค้าเกษตรของเรายิ่งขึ้น

วิถีของคนกล้าคืนถิ่นตอบโจทย์ให้ประโยชน์กับผู้คน ทุกชนชั้น ทุกเพศ ทุกวัย ทุกคน เหมือนกับสวนของพ่ออ้ายและพี่ต้อย ลูกสาวผู้สืบทอดเจตนารมณ์ของพ่อ เป็นสวนที่มีบรรยากาศชนิดที่เรียกว่า ดูรูปถ่ายแล้วอยากไปเที่ยวหาเลยทีเดียว วิถีที่ถูกต้อง วิถีแห่งความรัก ความเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน มันจะถูกถ่ายทอดส่งต่อไปด้วยความเป็นธรรมชาติในตัวของมันเอง เหมือนดั่งที่พ่ออ้ายได้ส่งต่อความสุข ความยั่งยืน ในวิถีคนกล้าคืนถิ่น ให้กับลูกสาว และครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อน ๆ ลูก ๆ หลาน ในชุมชน

เรื่องราวดี ๆ ที่น่าประทับใจแบบนี้ยังมีอีกมากให้ทุกท่านได้ค้นหา และพบคำตอบ ติดตามเรื่องราวดี ๆ เหล่านี้ได้ใน เฟซบุ๊ค แฟนเพจ คนกล้าคืนถิ่น

วันหนึ่งเรื่องราวดี ๆ ในวิถีชีวิตของคุณ อาจจะเป็นคำตอบ เป็นแรงบันดาลใจ เป็นสิ่งที่สร้างความประทับใจให้กับใครหลาย ๆ คนก็ได้ครับ ยินดีต้อนรับสู่เรื่องราวดี ๆ กับวิถีของ “คนกล้าคืนถิ่น”