คนกล้าคืนถิ่น

พีรพงศ์ ยาทา

  • คนกล้าพิษณุโลก
  • เว็บไซต์ :
  • Facebook : Perapong Yata

ในช่วงก่อนที่จะสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจากคณะสังคมศาสตร์ สาขาพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้รับข่าวการสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ในเฟสบุ๊ค ก็ได้ร่วมสมัครเข้าเป็นสมาชิกของทางโครงการ เพราะเป็นความตั้งใจของผมอยู่แล้วที่เลือกจะกลับมาสานต่องานที่บ้าน และกลับมาดูแลคุณพ่อให้ท่านได้พักผ่อนบ้างหลังจากได้ทำงานส่งผมเรียนจบมหาวิทยาลัย
สิ่งที่ทำให้ผมตัดสินใจเลือกกลับมาสู่บ้านเกิด เพราะคำว่า นักพัฒนา ในสิ่งที่เรียนมาทำให้เด็กคนนี้ถามกับตัวเองว่าเราจะเป็นนักพัฒนาอย่างไร พัฒนาอะไรดี จากการที่ได้ร่วมทำกิจกรรมอาสากับทางมหาวิทยาลัยและคณะสังคมศาสตร์ รวมทั้งได้มีโอกาสช่วยงานคณาจารย์ทำให้ได้เรียนรู้งานต่างๆ สิ่งที่ได้จากการทำกิจกรรมทำให้ผมเลือกที่จะเริ่มพัฒนาตัวเองให้ดีก่อนที่จะออกไปพัฒนาสิ่งต่างๆ
สิ่งที่ทำให้เชื่อมั่นที่จะกลับมาพัฒนาตัวเอง ครอบครัว และชุมชน คือสิ่งที่เด็กมหาวิทยาลัยจะได้รู้ตัวตนนั้น ก็เป็นประสบการณ์และสิ่งที่ได้จากการฝึกงานในชั้นปีที่ 4 โดยผมเองนั้น ได้เลือกสถานที่ฝึกงานกับ มูลนิธิชัยพัฒนา ที่อำเภออัมพวา จังหวังสมุทรสงคราม ในส่วนของ โครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ ซึ่ง “ การจัดการพื้นที่แห่งนี้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาคำนึงถึงความเหมาะสมและ สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวอัมพวาโดยนำหลักการพัฒนาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิสังคมและ พระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางและหลักการดำเนินงานที่สำคัญซึ่งเป้าหมายอยู่ที่การมีส่วนร่วมการร่วมมือร่วมใจระหว่างสำนักงาน มูลนิธิชัยพัฒนาและชาวอัมพวาทุกคนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูวิถีการดำรงชีวิตชุมชนอัมพวาให้สามารถอยู่ได้อย่างเข้มแข็ง เรียบง่าย ยั่งยืน และมีความสุข ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของสังคม ” จากการดำเนินการโครงการฯของมูลนิธิชัยพัฒนาที่ได้ให้โอกาสผมเรียนรู้งานและลงพื้นที่ชุมชน ทำให้ผมเชื่อมั่นในสิ่งที่จะเลือกกลับมาพัฒนาบ้านเกิดตามแนวทางพระราชดำริ สำหรับคำว่า “ คืนถิ่น คืนฐาน สืบสานชุมชน ”
เป็นคำที่ก้องอยู่ในใจของผมเลย จึงสมัครเข้าร่วมโครงการทันทีเลยเมื่อทราบข่าว
สิ่งที่ให้ผมเลือกที่จะกลับมาพัฒนาพื้นที่บ้านเกิดของผม คือ ครอบครัว เลือกที่จะกลับดูแลพ่อ ในเรื่องสุขภาพให้ท่านได้พักผ่อนบ้างหลังจากที่พ่อได้ทำงานคนเดียวตลอดเวลาที่ส่งผมไปเรียน ได้กลับมาสานต่องานจากพ่อ เรียนรู้ภูมิปัญญาต่างๆของพ่อ และได้กลับมาแนะนำน้องสาวในเรื่องเรียนและทำงานต่างๆ

หลังจากเข้าร่วมโครงการ คนกล้าคืนถิ่น
ทำให้ได้รับแรงบันดาลใจที่จะกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของผมเอง โครงการฯได้ฉายภาพให้เห็นถึงการเริ่มจากสิ่งที่มี ก็มาเป็นจุดเริ่มต้นในการกลับมาสู่บ้านเกิดตลอดระยะเวลาที่อบรมที่บ้านบ่มเพาะก็ช่วยชี้ภาพให้มองชัดถึงเป้าหมายปลายทาง นอกเหนือจากนั้นคือได้รับความอบอุ่นแบบพี่น้องมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ได้เรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ของแต่ละคน เป็นเครือข่ายที่แนะนำช่วยเหลือและบอกต่อสิ่งดีๆให้แก่กัน

สำหรับการกลับมาสานต่องานจากพ่อก็เป็นสิ่งที่พ่อทำมาตลอดที่สามารถส่งให้ผมและน้องได้เรียนหนังสือ ก็คือ 1. ทำนาข้าวหอมมะลิ ที่พ่อได้ทำมาตลอดทั้งเก็บไว้กินและขาย 2. เลี้ยงหมูขุน ทั้งการเลี้ยงขุนขาย และเพาะพันธุ์ขายลูกหมู ซึ่งสองอย่างนี้เป็นสิ่งที่พ่อผมทำมาตลอดถึงอาจจะไม่ใช่กิจการที่ยิ่งใหญ่ แต่ก็ทำให้ครอบครัวได้มีกินมีใช้ ผมก็จะสานต่อในสิ่งที่พ่อพาทำมาบวกกับสิ่งใหม่ๆให้เข้ากับความต้องการในปัจจุบัน และยังมีสวนปาล์มน้ำมันที่พ่อยังพาทดลองอีกหนึ่งทางเลือกซึ่งกำลังได้ผลผลิตแต่อาจจะยังไม่ได้ผลผลิตเต็มที่เท่าที่ควร ก็เป็นสิ่งที่พ่อได้พาทำให้เป็นทางเลือก
และกิจกรรมที่เพิ่มเติมขึ้นมาสำหรับการกลับมาพัฒนาบ้านเกิด โดยได้พ่อแนะนำและสนับสนุนอีกหนึ่งตัวเลือกคือ เลี้ยงวัว พื้นที่รอบบ้านนั้นมีหญ้าอยู่หลายแหล่งพ่อก็ได้สนับสนุนตัวนี้ขึ้นมาให้เกิดรายได้รายปีที่ทำเงินได้อีกทางหนึ่ง ยังมีเลี้ยงปลาเพิ่มเติมจากสระน้ำที่มีอยู่ เลี้ยงปลากินพืช ปลานิล ตะเพียน สลิด ยี่สก สวาย ไว้สำหรับเป็นอาหารในครอบครัว เหลือก็ขาย และปลาหมอแปลงเพศ ไว้ขายเพื่อสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง รอบขอบสระก็ปลูกไม้ผล ไม้ยืน ต้น และผักสวนครัวเพิ่มเติมไว้เพิ่งตัวเอง ให้มีอยู่ มีกิน ส่วนอีกหนึ่งกิจกรรมที่สร้างรายได้เป็นอย่างดีให้กลับผมในตอนนี้ คือ ขายฟางอัดก้อน ทั้งรับอัดฟาง และจัดส่ง ซึ่งฟางอัดก้อนกำลังเป็นที่ต้องการ สะดวกทั้งนำไปเลี้ยงสัตว์ วัว ควาย เลี้ยงปลา คลุมผัก คลุมสวน และทำเห็ดฟาง ก็เป็นสิ่งที่ครอบครัวมองเห็นถึงทิศทางคุณค่าจากสิ่งที่มีและที่สอดคล้องกับวิถีที่กำลังปรับตัวตามกระแสเศรษฐกิจที่สามารถทำให้เกิดรายได้และต่อยอดได้อีกหลายทาง การกลับคืนถิ่นของผมทำให้ผมมีความสุขกับสิ่งที่ครอบครัวของผมได้สร้างขึ้นมาร่วมกัน

 


หลังจากนี้ต่อไปของการกลับคืนถิ่นของผม คือ การทดลอง เรียนรู้ แก้ปัญหา อุปสรรค หาประสบการณ์และโอกาสให้กับตัวเองทั้งหาความรู้ และสร้างรายได้ โดยเริ่มจากสิ่งที่มีแล้วหาความพอดีระหว่างระบบทุนนิยมละเศรษฐกิจพอเพียง ให้ลงตัวที่ต้องเรียนรู้อีกต่อไป สำหรับตอนนี้ก็มีความสุขกับสิ่งที่ได้กลับมาพัฒนาพื้นที่ของเราเอง นอกเหนือจากความสุขแล้วเป็นความภาคภูมิใจในสิ่งที่เราได้ทำในพื้นที่ เมื่อสิ่งต่างๆเห็นเป็นรูปร่าง สิ่งนั้นก็มีคุณค่าทางใจต่อตัวผมเองและครอบครัว ผมได้ตั้งชื่อพื้นดินอันมีค่าแห่งนี้ว่า “ บ้านสวนพระคุณพ่อ ” ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างที่พ่อได้พาทำมาและสร้างขึ้นมาใหม่ทำให้ผมภูมิใจ และพอใจในสิ่งที่ได้ลงมือทำจากการเข้าร่วม โครงการคนกล้าคืนถิ่น กลับมา คืนถิ่น คืนฐาน สืบสานชุมชน