คนกล้าคืนถิ่น

ธัญญะ ทีปการพงศ์

  • คนกล้าเชียงราย
  • เว็บไซต์ :
  • Facebook : J uN Thunya

“ตอนที่ผมได้หยุดงานกลับมาบ้านก็บังเอิญได้ยินคนแก่แถวบ้านพูดเล่นๆว่า “เฮ้ย อีกหน่อยเถาวัลย์อาจจะขึ้นสูงพันเสาไฟฟ้าจนดูเหมือนหมู่บ้านร้างก็ได้” ได้ยินแค่นี้ผมก็รู้สึกหดหู่ผิดกับช่วงวัยเด็กที่เราได้โตมาในชุมชนเล็กๆแห่งนี้ตอนนั้นเรามีความสุขมาก มีคนทุกวัยอยู่ด้วยกันสนุกเฮฮาและสงบสุข แต่พอตอนนี้ในหมู่บ้านมีแต่คนแก่ไม่มีคนรุ่นลูกรุ่นหลานอยู่ดูแลหมู่บ้านเลย บ้านมันดูเหงาความอบอุ่นที่เคยมีเริ่มหายไป” คุณจั๋น ชาติพันธุ์เจ้าของฟาร์มสเตย์ ‘สวนชมภูโฮมสเตย์’ จ.เชียงราย เล่าถึงจุดเริ่มต้น ที่ทำให้ตัดสินใจกลับมาสร้างตัวตนใหม่ที่บ้านเกิด พร้อมกับโจทย์ใหม่ในการชุบชีวิตชุมชนให้มีสีสันและไม่ธรรมดา โดยนำวัตถุดิบและต้นทุนที่มีอยู่มาสร้างสรรค์ทางออกใหม่

ทว่า ก่อนจะถึงจุดที่ทุกคนในชุมชนมองเห็นว่า วิถีชนเผ่าอิ๊วเมี่ยน ของพวกเขาและทำเลที่เป็นทางผ่านไปยัง ‘จุดชมวิวดอยกาดผี’ ชื่อดังคือ โอกาสทอง คุณจั๋นก็ต้องใช้ความรู้ ทักษะการบริหารพื้นที่และจุดแข็งด้านการสร้างมนุษยสัมพันธ์ ผลิตผลงานให้ชาวบ้านเห็นภาพความสำเร็จทีละเล็กน้อย เริ่มจากการสร้างฟาร์ม โดยลงแปลงปลูกพืชหลากหลายต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนอย่างอบอุ่นด้วยแปลงเกษตรผสมผสานที่มีทั้งผลไม้ ผัก ดอกไม้ตามฤดูกาลออกดอกออกผลให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสทุกฤดู ผิดกับพืชเชิงเดี่ยวที่เคยปลูกมา จึงเป็นจุดผ่อนคลายที่ดึงดูดให้ผู้คนเข้ามามากมายพร้อมกับเมนูและการปรุงอาหารแบบฉบับชนเผ่าอิ๊วเมี่ยนที่ใช้เกลือเพียงอย่างเดียวอันเป็นเอกลักษณ์

พืชผักปลอดสาร เรื่องราวและเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชุมชนเหล่านี้จึงกลายเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้คุณจั๋นสามารถสร้างพื้นที่ในแบบที่เขาและชาวบ้านรู้สึกสบายใจได้ภายในระยะเวลาแค่ 2-3 ปี ชุมชนที่เคยเงียบเหงากลับมีคนมาเยือนไม่ขาดสายตลอดฤดูกาลท่องเที่ยวของภาคเหนือจนปัจจุบันนี้ ชุมชนมีทั้งฟาร์มเกษตรปลอดสาร ร้านกาแฟข้างไร่ และโฮมสเตย์มากมายภายในหมู่บ้านเล็กๆแห่งนี้ ในระยะเวลา 4 ปีหลังจากริเริ่มสร้างสรรค์ฟาร์มสเตย์ความเข้มแข็งในชุมชนก็เพิ่มระดับจนเห็นเป็นรูปธรรมขึ้น เช่น ไร่กาแฟอาราบิก้าที่เคยเป็นพืชเศรษฐกิจภายในชุมชนก็เริ่มมีคนนอกให้ความสนใจเข้ามาสั่งซื้อและลงทุน

นอกจากนั้น ‘ชมภูโฮมสเตย์’ ยังก่อให้เกิดเครือข่ายเกษตรกรและชาวบ้านที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันร่วมกัน บริหารจัดการพื้นที่ทั้งในบ้านเเละในแปลงให้มีมูลค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชนให้ยั่งยืนอีกด้วย

“นอกจากการขยายความสำเร็จของฟาร์มสเตย์ที่จริงแล้วผมอยากเห็นเด็กๆรุ่นลูกรุ่นหลานกลับมาอยู่บ้าน ถ้าเราช่วยกันทำให้เครือข่ายโฮมสเตย์ของชาวบ้านแข็งแร็งเกิดรายได้เศรษฐกิจของชุมชนก็จะดีพอเศรษฐกิจของชุมชนดี เยาวชนก็จะรู้สึกอยากกลับมาเพราะเขาก็ไม่จำเป็นต้องไปรับจ้างหาเงินในเมืองไกลๆอีก”

นี่คือปลายทางแท้จริงที่คุณจั๋นวาดฝันไว้ในตอนนี้เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวยังอยู่ในระยะก่อร่างดั่งต้นกล้าที่กำลังเจริญเติบโตค่อยๆสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ที่จากบ้านไปกลับมาคว้าโอกาสในชุมชนแห่งนี้

ส่วนระหว่างทางก็มีนักท่องเที่ยวเป็นดั่งน้ำช่วยหล่อเลี้ยงให้ต้นกล้าต้นนี้อุดมไปด้วยความชุ่มชื้น ความประทับใจในฟาร์มสเตย์ ห้นักท่องเที่ยวอยากกลับมาเยี่ยมเยือนอีกเรื่อยๆ งกับเอ่ยปากให้กำลังใจคุณจั๋นว่า “อย่าเลิกทำ รักษาวิถีนี้ต่อไปนะ”

การบริหารจัดการพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดเเก่ชุมชน ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและส่งเสริมวัฒนธรรมความเป็นชุมชนให้ยั่งยืน สักวันฟาร์มสเตย์จะแปรเปลี่ยนเป็นไม้ใหญ่ที่แข็งแรงเป็นที่พึ่งพิงให้ทุกคนในชุมชนต่อไป

บทความจาก: บทเรียนพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาธุรกิจเกษตรของเกษตรกรรุ่นใหม่ - ทำเนียบคนกล้าคืนถิ่น โดยมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช