คนกล้าคืนถิ่น

ชไมพร ศักดา

  • คนกล้าสุราษฎร์ธานี
  • เว็บไซต์ :
  • Facebook : ชไมพร ศักดา

คนกล้าชไมพร ได้ครอบครัวอบอุ่นด้วยวิถีคนกล้า (คืนถิ่น)

วันนี้เราพามาพบคนกล้าต้นแบบคุณชไมพร ศักดา อายุ 34 ปี ชาวอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี   ที่เคยเป็นมนุษย์กินเงินเดือนรับจ้างจัดสวนแต่ได้พลิกผันลาออกจากงานประจำมาใช้พื้นที่ประมาณ 200 ตารางวามาดำเนินการปลูกพืชไม้ประดับผสมผสานกับพืชผักสวนครัว พืชสมุนไพร พร้อมเปิดร้านจำหน่ายเป็นของตนเองสามารถสร้างรายได้จุนเจือครอบครัวอย่างมีความสุข

คุณชไมพรได้กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยทำงานเป็นสาวโรงงานมาก่อน และจุดเปลี่ยนจากคนทำงานกินเงินเดือนมาทำงานด้านการเกษตร ด้วยเหตุผลเบื่อความแออัดเบื่อกับความวุ่นวายของแต่ละวัน ไม่มีเวลาดูแลครอบครัว จึงอยากจะกลับมาใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายตามวิถีชีวิตชนบทที่อยู่แบบสบายใจมีเวลาได้ดูแลครอบครัว ประกอบกับตนเรียนมาด้านการเกษตรจึงมีพื้นฐานความรู้อยู่บ้าง ทางครอบครัวบิดา-มารดาก็สวนอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็เลยมาติดต่อขอเช่าพื้นที่ประมาณ 2 งาน ที่บริเวณริมถนนสายสุราษฎร์-พุนพิน เปิดเป็นร้านจำหน่ายไม้ดอกไม้ประดับและจัดสวนทั่วไป เมื่อมาเปิดร้านแรกๆก็ประสบปัญหาการขาดทุนเนื่องจากขาดความรู้เรื่องการค้าการขาย   เมื่อมีเพื่อนมาชักชวนเข้ารวมโครงการคนกล้าคืนถิ่น พร้อมกับอธิบายประโยชน์ที่จะได้รับจึงตัดสินใจเข้าโครงการอบรมเพื่อหาความรู้เพิ่มเติม

ซึ่งก่อนออกจากงานประจำพ่อกับแม่ก็ไม่เห็นด้วย เนื่องจากแม่คิดว่าการทำงานเป็นลูกจ้างเขามันได้เงินรายได้ที่ตายตัวที่รับเป็นประจำ ประกอบกับรับงานจัดสวนไปด้วย ก็จะมีรายได้เข้ามาเดือนละ 4-50,000 บาท แต่พอเรามาทำอาชีพค้าขายต้นไม้ประดับอย่างเดียวรายได้ที่เคยได้ก็หดหายไป ในช่วง 3-4 เดือนแรกก็ประสบปัญหาขาดทุนล้มอย่างไม่เป็นท่า ต้นทุนหมดไปประมาณ 100,000 บาท แต่ก็ไม่ย่อท้อหาเงินมาลงทุนต่อ   แต่ก็เจอการแข่งขันกันสูง เนื่องจากในตลาดไม้ประดับมีร้านค้าจำนวนมาก จึงตัดสินใจเข้าอบรมโครงการคนกล้าคืนถิ่น เพื่อเพิ่มเติมความรู้ หลังจากเข้าอบรมแล้วมีการรวมกลุ่มช่วยเหลือซึ่งกันและกันจนสามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆมาได้ ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีสมาชิกในกลุ่มจะเริ่มถอดใจจากปัญหาครอบครัวที่ไม่สนับสนุนให้ทำงานด้านการเกษตรตามแนวทางของโครงการ แต่ทุกคนในทีมกลุ่มปลาทวนน้ำสามารถฟันฝ่าอุปสรรคมาได้ด้วยการรวมทีมงานเป็นกลุ่มที่เหนียวแน่นลงไปช่วยเหลือกันลงมือทำสวนกันโดยไม่ปล่อยให้สมาชิกของกลุ่มทำงานคนเดียว จนทางครอบครัวแต่ละคนเห็นความสำคัญที่พวกเราช่วยเหลือกันไม่ทอดทิ้งกันจึงเข้ามาสนับสนุนกิจกรรมของแต่ละคน

ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมกับโครงการคนกล้าคืนถิ่นที่ได้เข้าไปอบรม 4 วัน 5 คืนนั้นทุกคน ได้รับความรู้ด้านการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปลูก การทำปุ๋ย การเลี้ยงสัตว์ พร้อมทั้งทางด้านการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพชีวิตของตัวเองและครอบครัว พร้อมทั้งได้กลุ่มเพื่อนใหม่ๆ มีการแลกเปลี่ยนความรู้ความคิด และสิ่งสำคัญเมื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ทำให้ตัวเองมีเวลาอยู่กับครอบครัว มีเวลาดูแล พ่อ-แม่และลูกๆ สร้างความอบอุ่นเพิ่มขึ้นหลังจากก่อนหน้านี้ทำงานกินเงินเดือนไม่มีเวลาดูแลคนในครอบครัวเลย   จึงสามารถตอบโจทย์ให้กับชีวิตของตัวเราเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนั้นยังนำความรู้ที่ได้รับนำมาปรับปรุงร้านค้าจำหน่ายไม้ประดับ โดยทำการปลูกพืชผสมผสานระหว่างไม้ประดับกับพืชผักบริโภคและพืชสมุนไพร ที่ประกอบด้วย สับปะรดสี พรม ชวนชมและเฟิร์น สวนพวกไม้ที่กินได้จะมี ผักไชยา เสาวรส ฟักข้าว ม่อน ขมิ้น และก็เลี้ยงไก่ ซึ่งไม้ทุกชนิดเราสามารถเพาะขยายพันธุ์ขึ้นมาเอง จึงทำให้ไม่ต้นทุนการลงทุนต่ำ สามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวเดือนละกว่า 10,000 บาท

ดังนั้นใคร่ขอเชิญชวนเพื่อนๆพี่ๆน้องๆ สละเวลาหาโอกาสเข้าร่วมกับโครงคนกล้าคืนถิ่น เดินทางเข้ามาอบรมเรียนรู้นำความรู้ที่ได้ไปใช้ในชีวิตประจำวันปัจจุบัน และในอนาคต โดยเฉพาะโครงการคนกล้าคืนถิ่นนั้น เขาสอนคนให้มีดำเนินชีวิตอยู่ได้ในทุกสภาวะ โดยใช้รากฐานเศรษฐกิจพอเพียงเป็นตัวสร้างความเข้มแข็ง


“หากถามว่าจุดเปลี่ยนของนิระหว่างชีวิตช่วงก่อนเข้าร่วมคนกล้าฯ กับหลังเข้าร่วมกับคนกล้าฯ คือการถูกชักชวนเชิงบังคับให้มาสมัครคนกล้าคืนถิ่น และต้องรอลุ้น จนมีรายชื่อและได้รับการอบรมตลอดระยะ 5 วัน 4 คืน ทำให้นิเองได้ใช้นามสกุลคนกล้าคืนถิ่น รุ่น 1 รุ่นแรกของโล หรือรุ่นหนูลองยาในปี 2558 จนทำให้ตัวเราเอง คิดได้ว่า อาชีพที่เราทำมันสามารถทำ ให้ตัวเราเองมีอิสระมากกว่าสิ่งที่เราเคยทำมาและมีเวลาที่จะทำตามสิ่งที่ตัวเองคิดได้มากกว่าเดิมมีเพื่อนมากขึ้น มีเครือข่ายมากขึ้น มีแหล่งความรู้ทางการเกษตรที่กว้างขวางกว่าเดิม

ชีวิตที่นิเคยใช้มาก่อนที่จะเจอคนกล้าคืนถิ่น คือ เป็นลูกจ้างโรงงานอุตสาหกรรมปลากระป๋องแล้วลาออกมาเปิดร้านขายต้นไม้ชื่อ สวนศักดา และรับออกแบบจัดสวนตามสถานที่ราชการหรือบ้านจัดสรรค์ทั่วไป แต่สิ่งที่นิเคยทำหรือกำลังทำ ณ ขณะนั้นมันรู้สึกว่านิอึดอัดและเริ่มเบื่อเนื่องจากการที่ต้องใช้เวลาหรือความคิดของตัวเองไปกับนายจ้างหรือบุคคลอื่นเยอะเกินไป จนกระทั่งได้ผ่านกระบวนการบ่มเพาะตามที่โครงการจัดมาจึงมีการเปลี่ยนแนวความคิดแนวปฏิบัติที่ชัดเจน

“สิ่งที่ได้แล้วนำมาใช้ได้จริงคือ การทำงานที่นิรักและชอบควบคู่กับการทำเกษตรตามวิธีที่เราเองถนัดและง่ายขึ้น รู้จักรับฟังคนอื่นๆพูดหรือแสดงความคิดเห็นมากขึ้น ยอมรับหรือแบ่งปันทั้งสิ่งของหรือมิตรภาพที่ดีให้กันเยอะขึ้น เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตของตัวเองง่ายขึ้นต่างจากที่เคยใช้มา”

ณ ปัจจุบัณนิคิดว่าชีวิตที่นิเป็นอยู่ ณ ปัจจุบันนี้มีความสุขมากกว่าตอนที่ทำงานโรงงาน หรือรับออกแบบจัดสวนอาจจะเพราะตอนนี้มีอิสระทางด้านอาชีพที่มากขึ้น ได้ทำในสิ่งที่รักจริงๆแม้ไม่ได้เป็นเกษตรกรปลูกผัก เลี้ยงสัตว์เป็นกิจวัตรทุกวันก็ตาม แต่นิเองได้ทำเกษตรตามวิธีที่นิรัก นิชอบ คือการเป็นแม่ค้าเลี้ยงกระบองเพชร ปลูกป่า ปลูกผัก ขายผลไม้ที่สวนตัวเองมี ไม่ต้องจำเป็นต้องขายส่งให้ใคร ขายเองเก็บเองตามกำลังของครอบครัวเท่านี้นิถือว่ามันคือความสุขมากพอแล้ว

ในเวลานี้ชีวิตของนิเชาว์ มีความสุขมากพอที่อยากจะบอกว่าอาชีพเกษตรกรไม่ใช้แปลว่าต้องไปทำนา ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ทำสวน หรืออะไรก็ตามเพียงแค่อย่างใด อย่างหนึ่ง แต่ตอนนี้นิเองมีความสุขบนอาชีพแม่ค้ากระบองเพชรที่มีผลไม้ตามฤดูกาลบางชนิด มีผักที่ปลูกเองนิดหน่อยไว้กินและที่สำคัญกว่าคือ มีเพื่อนๆที่ร่วมอุดมการณ์มากมายทั่วทั้งประเทศไทยนี้เยอะแยะไปหมด เพราะฉะนั้นอยากจะขอบคุณคนกล้าคืนถิ่นที่ทำให้นิเองค้นพบความสุขตามแบบที่ตัวเองมีและตัวเองชอบหรือเป็นอยู่ได้อย่างลงตัว”

“อยู่คนเดียวมันเหงา มาอยู่แบบพวกเราดีกว่า”

บทความจาก: เรื่องราวที่ดีจากคนกล้าคืนถิ่น…ถึงคนรุ่นใหม่ หนังสือบทเรียนพื้นที่ต้นแบบ การพัฒนาธุรกิจเกษตรของเกษตรกรรุ่นใหม่