คนกล้าคืนถิ่น

จิราพร ทองใหม่

  • คนกล้าพัทลุง
  • เว็บไซต์ :
  • Facebook : พอลล่า น่ารัก

ชื่อ จิราพร ทองใหม่ 

คนกล้า S1 อบรมที่สงขลา ปี 2558 ช่วงนั้นยังรับราชการของกระทรวงการคลัง ใช้เวลาวันหยุดลงแปลงที่ พัทลุง ใช้เวลาหลังเลิกงาน ทำแปลงผักข้างรั้วปลูกทุกอย่างที่อยากปลูก แรกๆปลูกตายๆ ใช้เวลาศึกษาข้อมูลทาง internet และทดลองทำ จดบันทึก ผลที่ล้มเหลวและผลที่ดี เปรียบเทียบปรับปรุง จนสามารถปลูกผักสลัด ได้แจกได้แปรรูปเป็นสลัดโรลขายมีรายได้ 

และทำกิจกรรมกับโครงการคนกล้าฯตบอดโดยใช้วันลาเข้าร่วมกิจกรรม ปี 2560 ลาออกจากราชการกลับบ้านมาดูแลพรอแม่ พร้อมทำเกษตรในแปลงข้างบ้านและช่วงนี้ได้เข้าไปทำในไร่บ้าง 

.....อัพข้อมูลแค่นี้ก่อน....

ไปลงเยี่ยมแปลง คนกล้า พช.ก่อน เด่วกลับมาเขียนเพิ่ม


“ถ้ารอเกษียณตอนอายุ 60 เเล้วค่อยกลับไปดูแลพ่อแม่ตอนนั้นพวกเขาก็คงไม่อยู่แล้ว เราจะกลับบ้านไปอีกทำไมถึงตอนนั้นเราก็คงไม่มีเเรงไปเดินป่าหรือไปเที่ยวไหนเเล้วด้วย เราเลยคิดว่า ชีวิตมันสั้นนิดเดียวอยากทำอะไรก็รีบทำ” นี่คือคำพูดของ คุณพอลล่า อดีตข้าราชการ Technical Support ของกรมสรรพากรจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่เติบโตมาพร้อมกับความหลงใหลในเรื่องของการดูแลสุขภาพและการปลูกผักมาตลอดชีวิต เธอตัดสินใจเกษียณอายุตัวเองล่วงหน้าหลังจากวางแผนมาอย่างถี่ถ้วน แล้วเดินทางกลับบ้านมาทำตามความฝันที่จะได้มีแปลงผักสดสะอาดเป็นของตัวเอง

“เดี๋ยวนี้พืชผักที่เราได้กินกันมีสารพิษทั้งนั้น เคยได้ยินไหมว่าเกษตรกรจะปลูกผักสองแปลง แปลงหนึ่งเอาไว้กินเองไม่ใส่สารพิษ อีกแปลงหนึ่งใช้สารเคมีทั้งหมด เพราะปลูกเพื่อขายเรื่องแบบนี้มันมีอยู่จริงแล้วเราเป็นคนชอบกินสลัด เราเคยจินตนาการมาตลอดว่า ถ้าเราอยู่บ้านสวนเราอยากจะตื่นเช้าไปเก็บผักในสวนของเรามาทำสลัดกิน แต่ก่อนหน้านี้มันมีข้อจำกัดคือเราอยู่ในเมืองหันไปทางไหนก็เจอพื้นปูน”

ถึงแม้ว่าความฝันที่จะมีบ้านสวนเป็นของตัวเองจะยังไปกันไม่ได้กับชีวิตในแฟลตกลางเมืองใหญ่ แต่คุณพรก็ไม่เคยทอดทิ้งความรักในการปลูกผัก เมื่อเจอพื้นที่เหมาะๆในลานจอดรถ เธอก็รีบดำเนินการขอใช้พื้นที่แล้วเปลี่ยนขอบกำแพงว่างๆที่ไม่มีคนใช้งานให้กลายเป็นสวนผักขนาดย่อมที่เต็มไปด้วยผักสลัดและผักสวนครัวปลอดสารพิษอย่าง พริก ต้นหอม ผักชี ฯลฯ ให้ทุกคนในแฟลตเดินมาเด็ดไปกินไปใช้ร่วมกันได้ นอกจากจะสร้างพื้นที่ของสวนขึ้นมาด้วยตัวเองแล้ว คุณพรยังส่งต่อแนวคิดดีๆในการกินผักปลอดสารที่ปลูกเองแบบนี้ให้กับคนรอบตัว โดยเฉพาะเด็กๆที่อาศัยอยู่ในแฟลตใกล้เคียง

“เราชวนเด็กๆแถวนั้น บอกว่าเนี่ยป้าพรปลูกต้นไม้อยู่มาปลูกด้วยกันไหม เด็กๆก็ปลูกสิเพราะมันน่าสนุก พอปลูกแล้วเด็กๆก็ติดชื่อไว้ต้นไหนเป็นของใคร จากเด็กที่ไม่เคยกินผักก็มาตัดผักของตัวเองไปกิน”

เมื่อสวนขนาดจิ๋วของเธอเริ่มอยู่ตัว คุณพรก็เริ่มนำผักที่เหลือจากการกินและแจกจ่ายมาต่อยอดเป็นเมนูสลัดโรลล์ขายเพื่อนๆและคนรอบตัว จากรายได้หลักร้อย หลักพัน กลายมาเป็นหลักหมื่นในเวลาเพียงนิดเดียว แถมด้วยลูกค้าประจำอีกมากมายที่คอยมาถามไถ่ขอซื้อเสมอ

“บางช่วงที่เราปลูกผักไม่ทันแล้วมีคนมาขอซื้อ เพื่อนๆบางคนก็บอกว่า “ไปซื้อห้างมาขายสิ” แต่เราไม่เอา เราอยากขายผักที่เราปลูกเองเพราะเรามั่นใจว่าเราปลูกแล้วมันปลอดภัย มันไม่มีสารเคมี เราอยากให้คนได้กินแบบนี้ เราไม่อยากจะซื้อจากห้างมาทำขายพวกเขา”

ความหลงใหลในการดูแลสุขภาพผ่านการกินอาหารปลอดภัย ผนวกกับประสบการณ์และเงินที่เก็บออมมาประกอบร่างกันอย่างสมบูรณ์แบบในช่วงเวลาที่คุณพรตัดสินใจเกษียณก่อนเวลา เเละเดินทางกลับบ้านที่พัทลุงเพื่อดูเเลคุณพ่ออายุกว่า 90 ปี คุณแม่ที่ป่วยเป็นโรคไตพร้อมกับสานฝันที่จะได้มีสวนผักปลอดสารอยู่หน้าบ้านและมีผลผลิตปลอดภัยให้คนในครอบครัวกินทุกวัน

คุณพรเปลี่ยนลานทรายหน้าบ้านของครอบครัวให้กลายเป็น ‘เเหล่งอาหารปลอดภัย’ เมื่อไม่ได้เป็นเเค่เพียงคนปลูก แต่ยังเป็นคนที่ทำอาหารเองกับมือ คุณพรจึงรู้ว่าควรเลือกปลูกผักหรือสมุนไพรชนิดไหนเพื่อให้ตอบสนองกับความตั้งใจอยากจะนำวัตถุดิบปลอดสารมาทำอาหารที่ดีต่อสุขภาพให้กับตัวเองและคนในครอบครัว

“เราเลือกทำสวนสมรมซึ่งเป็นสิ่งที่คนภาคใต้เราทำกันมานาน เราเลือกปลูกไม้หลายๆอย่างรวมกันในไร่โดยเริ่มต้นจากการปลูกในสิ่งที่อยากกินก่อน ปลูกทีละเล็กๆน้อยๆ ปลูกเท่าที่มีเพื่อพิสูจน์ว่า มันทำได้และเราอยู่กับมันได้จริง”

กว่าจะได้ออกมาทำสวนตามความฝันแบบนี้ คุณพรได้วางแผนการเกษียณเอาไว้อย่างรอบคอบมาตั้งแต่สมัยที่ยังทำงานอยู่ในเมือง เธอคำนวณเวลาทำงานให้ครบอายุราชการซึ่งระบุให้ทำงานนาน 25 ปีขึ้นไปถึงจะได้รับเงินบำนาญหลังเกษียณ แม้ว่าเธอยังทำไม่ครบระยะเวลาที่กำหนดเเต่ก็ยังมีสิทธิสวัสดิการอื่นๆสามารถเบิกค่าเทอมลูกได้ เเละบังเอิญว่าลูกคนเล็กของเธอซึ่งเป็นโปรเเกรมเมอร์ทำงานหาเงินได้ตั้งแต่ยังเรียนมหาวิทยาลัยจึงช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายให้คุณพรไปได้มาก ผนวกกับเธอตระหนักถึงเวลาที่จะได้อยู่กับพ่อแม่ที่ลดน้อยลงเรื่อยๆ เธอจึงตัดสินใจเกษียณอายุราชการมาทำตามฝันได้โดยที่ไม่ต้องกังวลกับภาระค่าใช้จ่าย

คุณพรเล่าว่าเธอใช้เวลาไปทั้งหมด 6 เดือนนับตั้งแต่วันที่ตัดสินใจลาออกเพื่อจัดการทุกอย่างในชีวิตให้ลงตัวที่สุดในการเตรียมตัวออกจากงาน เธอก็จัดการสอนงานให้กับน้องๆเพื่อให้ทุกอย่างสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างไม่มีปัญหา นอกจากการวางแผนการเกษียณอย่างรอบคอบแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้คุณพรประสบความสำเร็จก็คือการศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง กล้าคิด กล้าทำ กล้าทดลอง และไม่กลัวความล้มเหลว ไม่ว่าในขั้นตอนการทดลองปลูกทดลองนำไปทำอาหาร ทดลองขาย หรือแม้แต่เทคนิคทางการเกษตรต่างๆก็เกิดขึ้นมาจากการทดลองซ้ำแล้วซ้ำอีก จนได้ออกมาเป็นวิธีการที่เหมาะกับตัวเองที่สุด

“เมื่อก่อนตอนที่ปลูกแรกๆพี่ก็ใส่ปุ๋ยนะ แต่ผักมันก็ไม่โตพอทำไปเรื่อยๆเราก็เริ่มเรียนรู้ว่ามันไม่ต้องใส่ NPK อะไรมากมาย ถ้าจะปลูกผักแค่เอาดิน ขี้วัว ขี้หมู ขี้ไก่ ยกเว้นขี้เกียจมาหมักไว้ แล้วเอาฟางมาคลุมเดือนนึงสองเดือน พอมันย่อยสลายแล้วไปปลูกเถอะ ยังไงผักก็โตจุลินทรีย์มันช่วยย่อยสิ่งเหล่านี้ให้พืชนำเอาสารอาหารไปใช้ได้จริงๆ นี่มันเป็นเรื่องที่เราคุ้นเคยกันอยู่แล้วเพียงแต่ว่าเราหลงลืมไป เพราะเมื่อก่อนขี้วัวขี้ควายที่อยู่ในสวนก็วางสุมอยู่กับกองฟางตรงนั้นมันก็เกิดเป็นการหมักดินและดูแลแปลงโดยวิธีทำธรรมชาติ”

นอกจากนั้นคุณพรยังหมั่นตามหาเครือข่ายที่มีแนวคิดคล้ายคลึงมาแลกเปลี่ยนความรู้และสนับสนุนซึ่งกันและกันอยู่เสมอ ซึ่งทำให้ได้เรียนรู้การคิดคำนวณในเรื่องของการออกแบบพื้นที่เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีที่สุดโดยที่ไม่ใช้สารเคมีไม่ทำร้ายสุขภาพของตนเองเเละสิ่งเเวดล้อมรวมไปถึงการเรียนรู้ระบบการปลูกพืชหมุนเวียนที่ทำให้เธอสามารถมีกินมีใช้ได้ในทุกฤดูกาล

ปัจจุบันชีวิตหลังเกษียณของคุณพรคือการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากสิ่งที่ค่อยๆสร้างไว้ทำให้เธอพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง โดยนอกจากจะมีเวลาให้กับครอบครัวและคนใกล้ชิดแล้ว ยังมีเวลาให้ตัวเองได้ทำในสิ่งสนใจอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเดินป่า การทำการเกษตร การท่องเที่ยว หรือการทำกิจกรรมเพื่อสังคม ภายใต้ความเชื่อว่า

“หลังเกษียณเราไม่จำเป็นต้องทิ้งทุกอย่างแล้วกลับมาอยู่บ้านเฉยๆก็ได้ คนเรายังมีคุณค่ายังมีสิ่งที่อยากทำถ้าเรากลับมาอยู่เฉยๆ แม้จะมีเงินออมพอให้อยู่ได้แต่นั่นมันไม่ใช่ชีวิต ชีวิตมันต้องมีการขับเคลื่อนเพราะตอนที่เราทำงาน เราทำเพื่อหาเลี้ยงชีพพี่มองว่าการเกษียณมันคือการกลับมาใช้ชีวิตในอีกรูปแบบหนึ่งที่เราต้องการมากกว่า”

บทความจาก: บทเรียนพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาธุรกิจเกษตรของเกษตรกรรุ่นใหม่ - ทำเนียบคนกล้าคืนถิ่น โดยมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช