คนกล้าคืนถิ่น

  • คนกล้านครศรีธรรมราช
  • เว็บไซต์ :
  • Facebook : Phiyathida Nicha Kunjiak

ณิฌา กัณเจียก

ชื่อ ณิฌา กัณเจียก (มณีฉาย) ชื่อเล่น ปุ่ม อายุ 42 ปี
คนกล้ารุ่นที่ 3/2 นครศรีธรรมราช โหนด 23 บ้านบ่มเพาะพี่เล็ก นาโยง ตรัง

ก่อนมาเป็นคนกล้าคคืนถิ่น ก็ทำงานโรงงาน 2-3 โรงงาน เป็นพนักงาน QC , พนักงานควบคุมเครื่อง CNC , เจ้าหน้าที่สโตร์ ควบคุมสต็อคสินค้า วัสดุสิ้นเปลือง วัตถุดิบ และอะไหล่ซ่อมบำรุง สุดท้ายเป็นพนักงานธุรการทั่วไป บริษัทเครนแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี แล้วก็ลาออกถาวร ใช้เวลา 10 กว่าปี ทำงานในตำแหน่งลูกจ้าง ตัดสินใจเป็นนายตัวเองด้วยการ ขายของตามตลาดนัดทั่วเมืองชลบุรี สังคมตลาดนัดไม่ได้แตกต่างจากสังคมลูกจ้างมากนัก ต่างกัน 2 ข้อ ในความคิดของเรา คือ 1. มีความเป็นอิสระ 2.ที่แข่งขันแย่งชิงกันเพื่อตัวเอง ไม่ใช่เพื่อเจ้านาย อย่างอื่นเหมือนๆ คล้ายๆ กัน ในที่สุดก็เหนื่อยกาย เหนื่อยใจ เริ่มท้อ เบื่อหน่ายอีกครั้ง ระหว่างที่ท้อใจ ก็นึกถึงคำสอนในหลวง รัชกาลที่ 9 ตลอดเวลา เริ่มค้นหาความพอเพียง เริ่มคิดทำยังไง ถึงจะพอเพียง ทำยังไง ถึงจะมีความสุข

และแล้วก็ได้บังเอิญเจอ โครงการคนกล้าคืนถิ่น แต่ยังไม่รู้ว่ามันคืออะไร ยังไง เริ่มค้นหาต่อ ในเฟสบุค ในกูเกิ้ล ยูทูป เว็บไซต์ ศึกษาและเดาไปเรื่อยๆ เพราะไม่ค่อยรู้รายละเอียดมากจากที่ค้นหาเจอ ก็คงเหมือนการอบรมทั่วไป แต่มันดูแปลกๆ มีอะไรที่มากกว่าการอบรมอื่นๆ แน่นอน จากนั้นก็ตัดสินใจเลย กลับบ้านต่างจังหวัด ไปเริ่มต้นใหม่ แรกๆ กลับบ้าน ( สามี ) ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็ยังไม่รู้จะทำอะไร ก็ขายของตลาดนัดแถวนั้น สามีก็ตัดยาง แล้วก็คอดกันว่าเราจะทำเศรษฐกิจพอเพียงกันยังไง นึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็นึกขึ้นมาได้ว่าต้องปลูกหญ้าแฝก แต่ไม่รู้จะไปหาที่ไหน ก็เริ่มค้นหาอีก ในกูเกิ้ล ก็เจอว่ามีที่สำนักงานที่ดินจังหวัด ก็ไปสิ ไปถึงไม่มีเจ้าหน้าที่เลย ไม่รู้เขาไปไหนกันหมด ก็เดินดู เดินหาว่าคนอยู่ไหน ไปเจอคนนึงเหมือนเป็นคนงานปลูกต้นไม้ เขาก็บอกเราว่าไม่มีหญ้าแฝก ต้องลงชื่อจองคิวไว้ กลับบ้านมาด้วยความผิดหวังเล็กน้อย แต่ยังไม่สิ้นหวัง ทักแชททางเฟสบุคไปหา ผช.คนหนึ่ง ที่เข้าใจว่าต้องรู้เรื่องโครงการคนกล้า ชื่อพี่กอล์ฟ กับพี่นเรนท์ ถามเขาว่าจะหาหญ้าแฝกได้ที่ไหน และอบรมคนกล้าฯยังไง ไม่นานก็ได้คุยกันทางโทรศัพท์ พี่แกก็อธิบายแนะนำดีทุกอย่างเลย ตอนนั้นรู้สึกดีใจและมีความหวังมาก พี่แกแนะนำให้เราไปบ้านปราชญ์ชาวบ้านที่ใกล้ที่ๆเราอยู่มากที่สุด นั่นคือ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรธรรมชาติ บ้านลุงโน ชำนาญกิจ นั่นเอง ไปแล้วก็ประทับใจลุงมโนหลายๆ อย่าง เกี่ยวกับวิธีคิด วิธีพูด และปฏิบัติของแก จากนั้นก็ไปที่นั่นบ่อยๆ เพื่อขอคำชี้แนะด้านการทำเกษตร แล้วก็มีโอกาสได้อบรมเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่บ้านของลุงมโน

และแล้วช่วงเวลาของการอบรมคนกล้าคืนถิ่นก็มาถึง จำได้ว่ารีบกรอกสมัครเป็นคนแรกๆ ของรุ่นนั้น แล้วก็ตัดสินใจแน่วแน่ ตั้งใจมาก อยากรู้ว่าที่เราเคยเห็นเขาทำอะไรแปลกๆกันในวงกลม แล้วก็ได้รู้ทั้งหมด ภายใน 5 วัน 4 คืน กับเพื่อนคนกล้ารุ่นเดียวกัน 30 กว่าคน ถ้าจำไม่ผิด รู้สึกว่ามันคุ้มค่ากว่าการอบรมอื่นๆ ที่เราเคยได้ผ่านการอบรมมา ในสมัยที่เราอยู่ในวังวนสังคมลูกจ้าง

อบรมเสร็จเริ่มบ้าปลูกโน่นนี่นั่น เยอะแยะไปหมด ตายเกลื่อนบ้าง ตายอนาถบ้าง รอดบ้าง เรียนผิดเรียนถูกไปเรื่อย เพราะที่เราไปอบรมมาเหมือนเขาจะบอกเราให้เรียนผิด เรียนถูกเอาเอง "ไม่มีผิด ไม่มีถูก " กับให้เพลี๊ยะ ของเพื่อน นั่นแหละครูที่ดีที่สุดคือลงมือทำเอง ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง ทำเองผิดเองไม่ต้องโทษคนอื่น ทำได้ก็ดีใจ แล้วก็ได้รู้ว่าชีวิตมันไม่ง่าย เจออุปสรรค ก็ต้องแก้ไข หรือปล่อยวาง เราคืนคนที่มีสิทธิ์ตัดสืนใจ ช่วงแรกๆ มันจะขรุขระหน่อย จริงๆ ก็ไม่หน่อยนะหนักเอาการอยู่ด้วยความที่ไม่ได้เตรียมพร้อม ไม่มีพื้นฐาน ไม่มีความรู้ และทุนเดิมด้านนิสัยหรือสันดานเรา วู่วาม ใจเร็วด่วนได้ ใช้อารมณ์เป็นหลัก มันก็เกิดปัญหาขึ้นมาเรื่อยๆ กว่าจะผ่านจุดนั้นมาได้ โซซัดโซเซ.... การมีชีวิตอยู่ การสร้างชีวิต บางครั้งดี บ้างครั้งก็ไม่ได้ดี ปะปนกันไปให้เราได้เรียนรู้กันต่อไ

 จนถึงจุดนี้ก็คิดว่ามันดีแล้ว ที่เราตัดสินใจในวันนั้น เราได้พบความสงบนิ่งในใจของเราเอง โดยที่เราเรียนรู้มันด้วยตัวเอง และเข้าใจถ่องแท้เกี่ยวกับการใช้ชีวิต พอเพียงอย่างไร ให้ใจและกายเป็นสุข แต่ละคนมีความพอเพียงในแบบของตัวเอง แค่ทุกคนต้อง คิด และลงมือทำด้วยตัวเอง ขอบคุณโครงการคนกล้าคืนถิ่น ขอบคุณครอบครัวคนกล้าค่ะ @บ้านสวนพ่อตา

เริ่มจากสิ่งที่เรามี คืนถิ่น คืนฐาน สืบสานชุมชน