คนกล้าคืนถิ่น

กฤศ พัฒนสิงห์

  • คนกล้าสุราษฎร์ธานี
  • เว็บไซต์ :
  • Facebook : djorgan.th

“เมื่อสิ่งที่ไม่ใช่ ยังไงมันก็ไม่ใช่... คนหลายคนกลัวที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง กลัวที่จะเริ่มต้นสิ่งใหม่กลัวที่จะกลับไปสู่จุดเริ่มต้น.. แต่สำหรับผมไม่ได้คิดแบบนั้นครับ ทันทีที่เห็นโพสต์รับสมัคร ‘คนกล้าคืนถิ่น’ หลังได้อ่านรายละเอียด ก็สมัครทันทีแบบไม่ต้องคิดอะไรมาก ง่ายๆ ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆก็เท่านั้น หลังจากที่ได้ลงทะเบียนไป ตัวเองก็ต้องเดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศ ซึ่งส่วนตัว ณ ตอนนั้นประกอบอาชีพเป็นช่างสัก เปิดร้าน Tattoo อยู่ป่าตอง แน่นอนอยู่แล้วครับการทำธุรกิจมันก็มีขึ้นลง เป็นเรื่องทั่วไป แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือ ‘ค่าเช่าร้าน’นั่นแหละครับที่เป็นตัวแปรหลักให้ต้องเดินทางไปสักต่างประเทศเกาหลี ช่างสักเขานิยมไปกัน 60 กว่าวันกับการใช้ชีวิตในต่างแดนตัวคนเดียวนั่งรอเมื่อไหร่จะได้กลับบ้านสักที เมื่อกลับถึงบ้าน และได้รับการแจ้งมาว่า ‘คุณได้รับการคัดเลือกให้อบรมคนกล้าคืนถิ่น’ ปิดร้านสิครับ ปิดแบบไม่ต้องสงสัยลังเลอะไรเลย พร้อมไปอบรม เรียนรู้ สิ่งที่เราคิดว่าเรารู้แล้วเปลี่ยนมุมมองสักหน่อย ‘ออร์แกน’ คนกล้าฯ รุ่น 2 เลยได้เกิดขึ้น ณ ตอนนั้น

สิ่งที่เราคิดว่าเรารู้แล้ว เราได้รู้เพิ่มเติม และได้รู้แบบถูกต้องว่าแนวทางในการทำเกษตรเขาทำกันอย่างไร เพราะว่าธุรกิจร้านสักคงอยู่ได้อีกไม่นาน และมีการวางแผนว่าจะกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิดเลยทำให้อยากมาร่วมกับโครงการนี้เป็นอย่างมาก

หลังจากจบการอบรม มีการต่อยอดไปร่วมกิจกรรมอื่นๆอีกหลายๆ อย่าง บ้านภูลิตา เขามีโครงการร่วม ต้องการคนไปบุกเบิก ก็ไปกับเขา ปิดร้านอีกแล้วครับ ไม่ต้องถามว่าปิดกี่วันปิดได้ตามความพอใจของตัวเอง เพราะว่ากิจการร้านสักคิดว่ามันคงมาถึงจุดอิ่มตัวของตัวเองแล้ว หันไปหาสิ่งใหม่ๆ บ้างดีกว่าเท่านั้นแหละครับสำหรับความคิดในตอนนั้น กลับมาจากกิจกรรมก็ยังมาเปิดร้านสัก ทำงานต่อไป ยังติดต่อกับเพื่อนๆพี่ๆ น้องๆ ที่ไปอบรมด้วยกัน สอบถามว่าใครได้ทำอะไรกันไปบ้างหรือยัง...ยัง ไม่มีใครเริ่มอะไรเลย

“จนมาถึงวันที่ตัวเองได้ปิดกิจการร้านสักและกลับมาอยู่บ้าน ‘บ้านนาเดิม จ.สุราษฏร์ธานี’ ด้วยเหตุผลทีว่ายางพาราที่ปลูกไว้กรีดได้แล้ว แต่ส่วนตัวทำไม่เป็นนะ รับเงินอย่างเดียว แต่ในความเป็นจริงกับสิ่งที่ได้รับมันสวนทางกันมาก รายได้ไม่คู่ควรกับรายจ่าย เลยยังต้องเดินสายรับงานสักลูกค้านอกสถานที่ตามจังหวัดต่างๆ ตามแต่ที่ได้รับการติดต่อและจุดเปลี่ยนของตัวเองก็เจอ”

‘แคคตัส หรือ กระบองเพชร’ นี่แหละครับที่ทำให้ได้กลับมาสู่วิถีเกษตร ช่วงนั้นที่สักลูกค้าอยู่ ที่ จ.เพชรบุรี และได้ไปเดินชมงาน ‘เขาวัง’ พร้อมกับได้ซื้อแคคตัสติดมา 2-3 ต้น แล้วก็มาสักลูกค้าต่อ เอ๊ะ..มีดอกด้วย น่ารักดี เท่านั้นเองวันรุ่งขึ้นเลยโทรไปที่สวนและได้พูดคุยกับเจ้าของสวน เขาก็ทำงานอยู่ที่บ้านปลูกต้นไม้ เลี้ยงต้นไม้ ขายต้นไม้ ชีวิตมีความสุข และมีรายได้จากการขายต้นไม้เลี้ยงตัวเองในชีวิตวัยเกษียณได้ แต่ผม...ยังไม่เกษียณนะ แต่สิ่งที่ได้คือ ‘ได้อยู่บ้านและมีรายได้’ หลังจากนั้น สักลูกค้า 3 หมื่น ซื้อแคคตัสกลับบ้าน สักลูกค้าได้เท่าไหร่ ขนแคคตัสกลับบ้าน กลางคืนก็ดู ศึกษาวิธีการเลี้ยง การดูแล จากยูทูปแถมยังไปลงเรียนคอร์สออนไลน์เพิ่มเติมอีกด้วย ทำโรงเรือนสิ เริ่มเยอะแล้ว โรงที่ 1 ผ่านไปเริ่มขายสิ ขายทางไหน ออนไลน์นี่แหละครับ เพราะว่าเป็นอะไรที่ถนัด ถ่ายรูป โพสต์ เงินเข้าบัญชี แพ็คส่งลูกค้า

จากที่เคยโพสต์ขายตามกลุ่มต่างๆ เลยแยกตัวออกมาสร้างบ้านตัวเอง เกิดเป็นกลุ่ม ‘มือใหม่หัดเลี้ยงแคคตัส’ นำเสนอเรื่องราวความรู้ อวด โชว์ แลก แจก จนปัจจุบัน ขายควบคู่กันไปด้วย ยิ่งช่วงโควิดยอดขายถล่มทะลายมากๆ และส่วนตัวยังแบ่งปันความรู้ผ่านยูทูปโดยใช้ชื่อช่อง Ana Channelเพื่อสร้างความรู้ และแรงบันดาลใจให้กับผู้หลงรักหนามอีกด้วย”

วันหนึ่งได้คุยกับเพื่อนคนหนึ่งเกี่ยวกับชีวิต ณ ปัจจุบันว่าแต่ก่อนนั้นตัวเองเคยทำอะไรมาบ้าง นักจัดรายการวิทยุเกือบ 20 ปีผันตัวเองเป็นเจ้าของคลื่น เมื่อแนวโน้มวงการวิทยุเปลี่ยนไปเปิดร้านสักทั้งๆ ที่วาดรูปไม่เป็น และเมื่อคิดว่าร้านสักมาถึงจุดอิ่มหรือทางตันแล้ววกกลับมาสู่จุดเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง และครั้งนี้เป็นครั้งที่สิ้นเดือนแล้ว ‘มีเงินเหลือติดบัญชีมากกว่าอาชีพอื่นๆที่ตัวเองเคยทำมา’ หากกลัวที่จะกลับไปสู่จุดเริ่มต้น กลัวกับการเริ่มต้นใหม่ กลัวในสิ่งที่ยังไม่เกิด กลัวแม้จะทั่งความคิดตัวเองผมว่า ‘คุณต้องไปคิดใหม่ และจัดลำดับใหม่’ ให้กับชีวิตตัวเองนะครับ”

“ปัจจุบันมีรายการทีวีต่างๆ มาถ่ายสวน Cookierun Cactus ของผมหลายรายการมาก ยิ่งเป็นการตอกย้ำเข้าไปอีกว่า ‘วิถีเกษตร’ มันเปลี่ยนไปแล้วนะ
ไม่จำเป็นต้องมาจับจอบ ขุดดิน คุณก็มีชีวิตที่ดีได้จากสวนเล็กๆ ที่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก จากคนธรรมดาแต่กล้าที่จะเรียนรู้และยอมรับ ปรับตัวกับการ
เปลี่ยนแปลงและพร้อมเริ่มต้นใหม่ ไม่ฝืนทำสิ่งที่“มันไม่ใช่” จนทำให้ค้นพบคำกับว่า “อยู่บ้านก็ได้นะ” นี่ละครับ ชีวิตของผม”