คนกล้าคืนถิ่น

ปรมะ ประทุมมาศ

  • คนกล้ากระบี่
  • เว็บไซต์ :
  • Facebook :

คนกล้า ปรมะ กล้าเปลี่ยน จากเกษตรกรสวนปาล์ม สู่แนวพอเพียง แต่ทำเงิน

ล้มปาล์ม ทำสวนผัก
ที่ดินกว่า 50 ไร่ ในพื้นที่ ต.เขาคราม อ.เมืองกระบี่ ที่เดิมได้ปลูกปาล์มน้ำมัน ตัดผลปาล์มขาย 15 วันครั้ง ได้ครั้งละ 12-15 ตัน แต่เนื่องจากปาล์ม ราคาถูกแค่กิโลกรัมละ 3 บาทกว่า ไม่คุ้มค่ากับการลงทุนที่ต้นทุนการผลิตอยู่ที่เกือบ 4 บาท ปรมะ ประทุมมาศ หนุ่มใหญ่วัย 42 ปี ที่รับหน้าที่ดูแลที่ดินของครอบครัว จึงต้องหาแนวทางเสริม หันมาปลูกผักในสวนปาล์ม โดยมีผักเหรียง เป็นผักนำร่อง แต่ก็เก็บขายได้ไม่มากนัก เมื่อจะขอพื้นที่จากพ่อ เพื่อล้มปาล์มสัก5 ไร่ ปลูกผัก หรือทำตามแนวคิดก็ไม่ได้รับการอนุญาต

เข้าโครงการคนกล้า ตั้งใจว่าต้องสำเร็จ
แต่หลังจากมีโครงการ คนกล้าคืนถิ่น ปรมะ ก็รีบสมัครเข้าร่วมโครงการ เพื่อที่จะเรียนรู้ และนำความรู้ที่ได้นั้นกลับมาบอกกับพ่อให้ยอมรับ หลังผ่านการอบรมและทำจริง บอกพ่อทุกวันว่าจะทำอะไร ได้ประโยชน์อย่างไร ยั่งยืนแค่ไหน ก็ได้รับการอนุญาตให้ล้มต้นปาล์มน้ำมันเนื้อที่ 5 ไร่ และเริ่มต้นปลูกไม้ ปลูกผักตามแนวทางพอเพียงเกษตรอินทรีย์ เพื่อลดต้นทุน แต่ผลที่ได้คือ เม็ดเงินที่กลับมาในรูปแบบการขายพืชผักระยะสั้นในช่วงแรกจนเป็นที่พอใจ

ปลูกผักขาย มีรายได้ พร้อมความสุขกับครอบครัว
ขณะเดียวกัน ก็ได้ปลูกพืชระยะยาว อย่างต้นไม้ให้เนื้อ เช่น จำปาทอง ไผ่ชนิดต่างๆ รวมถึงมะละกอ ที่จะเป็นพืชหลักในห้วงเวลา 3-4 ปีต่อจากนี้ และเริ่มเห็นผลมากขึ้น เมื่อต้นไม้ต่างๆ เริ่มโตขึ้น ขณะที่พืชผักก็สามารถปลูกขายในรูปแบบผักปลอดสารพิษ ผักอินทรีย์ ใช้ปุ๋ยจากการหมัก และปุ๋ยไส้เดือน นำน้ำจากการเลี้ยงปลาไปใส่ต้นไม้พืชผัก โดยไม่ใช้สารเคมีใดๆ ทุกวันนี้ นอกจากจะไปเก็บผักเองแล้ว ครอบครัวก็ไปร่วมเก็บด้วย ถือเป็นความสุขอีกขั้นหนึ่งที่ได้รับ


คนกล้าสร้างระบบ จึงพบความเป็นไปได้
ปรมะ ประทุมมาศ บอกว่า ที่ผ่านมา ตนเองได้พยายามที่จะปลูกพืชผักชนิดอื่นทดแทนปาล์มน้ำมันที่มีอยู่ แม้จะไม่ทั้งหมด แต่จะเป็นพืชทางเลือก ซึ่งหลังการไปอบรม ได้ทำจริง เห็นคนอื่นทำและได้ศึกษา ก็ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ เป็นข้อคิด และสามารถวางแผนการทำงานได้ เมื่อก่อนคิดแล้วทำเลย ไม่ได้วางแผนก็ทำให้ขาดทุนได้ แต่หากมีระบบ ก็ทำให้ลดต้นทุนที่ต้องเสียไปได้อย่างมาก ถือเป็นโครงการที่ดีอย่างมาก และขณะนี้ก็ได้กลุ่มเพื่อนที่มีหัวใจเดียวกันในการร่วมคิด แบ่งบันสิ่งใหม่ๆ ในการทำเกษตรได้มากขึ้น